รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม 2551 ทางมหาวิทยาลัยเตรียมจัดละครเวที ซึ่งเป็นการแสดงจาก The Philippine Educational Theater Association (PETA) ร่วมกับ Khandha Arts'n Theatere Company and Visualantis Netherland พร้อมด้วยศิลปินรับเชิญ อ.ธิติพล ขันธีวงศ์ และนักแสดงในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ จะนำเสนอนาฏกรรมร่วมสมัย ระบำจิตวิญาญาณบูโต และสื่อผสมวิดิทัศน์ For a Liittle Less Noise แม่น้ำ หนึ่งในโครงการ PETA Mekhong Partnership Project 2008 กำกับการแสดงโดย โซโนโกะ พราว
สวนแม่ฟ้า
ทางเข้าแม่ฟ้า
ประวัติ
ปี 2534 – 2536 ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี 2536-2545 ขึ้นเป็นฉบับแรก ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
ปี 2537 มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น
18 กรกฎาคม 2538 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนเชียงรายที่ทรงใช้เป็นพระตำหนักและ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น นำความเจริญมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงและเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
4 มีนาคม 2539 นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังและสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ประสานงานนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว
5 มีนาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย
27 เมษายน 2539 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ระบบบริหาร และระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อคณะรัฐมนตรี
20 สิงหาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา
13 กุมภาพันธ์ 2540 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลในสมัยที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ โดยไม่ยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัย
18 กันยายน 2540 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้น คณะกรรมการจังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมไว้ 3 แห่งคือ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว และบริเวณดอยโตน อำเภอเวียงชัย ซึ่งต่อมานายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณดอยแง่ม และจอมหมอกแก้ว เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนจังหวัดเชียงรายก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้อง ณ บริเวณโรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นโดยเร็วและได้ขอคำยืนยันจากรัฐบาล ซึ่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ และรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ได้ให้คำยืนยันว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายใน ปี 2542
29 กรกฎาคม 2540 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย ได้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน 4,997 ไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
26 มีนาคม 2541 ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ
25 กันยายน 2541 มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539 และในปี 2541 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 700 ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย ในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมา
มิถุนายน 2542 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
3 กุมภาพันธ์ 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ยังความปลื้มปิติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
6 พฤษภาคม 2547 โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1 ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. 2547 ของการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปฏิบัติภารกิจเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยตลอดไป
สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ว. ประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง ทรงเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 และได้อัญเชิญฉัตร 7 ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะสนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกหอมนวล (ลำดวน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum fruticosum Lour[4]
สีประจำมหาวิทยาลัย
แดง หมายถึง องค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีขอบเขต
การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาควรมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
อันดับมหาวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[5] โดยในภาพรวมด้านการวิจัยนั้น มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 26 ของประเทศไทย[6] และภาพรวมในด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12[7] ของประเทศ
พื้นที่มหาวิทยาลัย
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
วัตถุประสงค์ของการจัดสร้างเนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระราชปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะ " ปลูกป่า สร้างคน[8] " เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งการธำรง ไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชิติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป
ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร
เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมเยือนและแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐบาลประเทศจีน และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน
ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ คณะรัฐบาลประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลประเทศจีนจัดตั้ง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ 100 ปี ในปี พุทธศักราช 2543
รัฐบาลจีนได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และยังสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนพร้อมหนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้ในการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างมีประสิทธิภาพ
ระหว่างวันที่ 7 ถึง 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2543 รัฐบาลจีนได้ส่งคณะศึกษา และสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากสถาบัน China Southwest Architectural Design and Research Institute เพื่อให้มาทำการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งหัวหน้าคณะที่มาดำเนินการเรื่องนี้ คือนายเฉิน ไค เม่ย (Mr. Chen Kai Mei) และคณะ ได้มาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง ประมาณ 20 วัน เพื่อสำรวจพื้นที่และออกแบบอาคาร
การก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้ยึดเอาศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบ ซูโจว เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยมีกำแพงล้อมรอบตัวอาคารทั้งหมดสี่ด้าน ภายในประกอบด้วยสวนหิน และสระบัว ศาลาดูปลา ที่สร้างตามแบบดั้งเดิมของจีน การก่อสร้างศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งนี้ ได้นำเอาวัสดุการก่อสร้างที่สำคัญบางส่วนมาจากประเทศจีน เช่น ปูนปั้นมังกร หลังคา ครอบเชิงชาย สิงโตคู่ บัวเสา ตลอดจนรูปแบบศิลปะแบบจีน ประตูวงพระจันทร์ หน้าต่างหกเหลี่ยม ประตูและหน้าต่างลวดลายจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2543
พิธีเปิดการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2544 โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย พิธีมอบอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้รับมอบจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2546 เพื่อทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน
พระราชทานลายพระหัตถ์พระนามาภิไธยภาษาจีน พระราชทานไว้ให้แก่ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน นับเป็นสิ่งพระราชทานที่ทรงคุณค่ายิ่ง ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า “ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ” ตามหนังสือที่ รล 008/2300 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2546 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และประชาชนทั่วไปเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
พื้นที่การศึกษา
กลุ่มอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแบ่งเป็น 2 ส่วน[9] คือ ส่วนอาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ อาคารS1และอาคารS2 และส่วนอาคารเรียน ได้แก่ อาคารC1 อาคารC2 อาคารC3 อาคารE1และอาคารE2
Main Auditorium
หอประชุมสมเด็จย่า หรืออาคารC4 เป็นห้องประชุมขนาด 2500 ที่นั้ง ใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร[10] แก่ผู้สำเร็จการศึกษา การแสดงนิทรรศการต่างๆ และยังใช้เป็นสถานที่ในการจัด In Honor of 175 years US-Thai Friendship[11] อีกด้วย
ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เป็นสถานที่จำหน่วยหนังสือและเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสินค้าให้เลือกมากมาย อาธิ ของชำร่วยที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ โปรสการ์ดที่เป็นรูปอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
มาร์ชมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ปฏิญญาแม่ฟ้าหลวง
สายใยแดงทอง
โอ้ลานดาว
ลาแดนลำดวน
มาร์ช มฟล.
พี่รับน้อง
ม.แม่ฟ้า
ลานดาว
มฟล.รื่นเริง
รำวงสัมพันธ์ที่ลานดาว
แดนสวรรค์ ม.แม่ฟ้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น